วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา

บทความวิชาการ
การระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา
                                                             

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะด้านวัตถุ มีการพัฒนาสร้างสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย  จำเป็นอย่างยิ่งที่การจัดการศึกษาในโรงเรียน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู  เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ  ซึ่งปัจจุบันทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 โดยปรับประยุกต์ให้เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (..2545-2549) ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยพัฒนาสู่สากลบนพื้นฐานของความเป็นไทย เพื่อให้คนมีชีวิตที่ดีงาม เก่ง และมีความสุข ให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทร ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี    มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการให้มากที่สุดในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
ความหมายของทรัพยากรทางการศึกษา   
ทรัพยากร หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวกลาง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของคน วัสดุ เงิน หรืออื่นๆที่จะเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินงานขององค์การสำเร็จได้
                ทรัพยากรในการบริหาร ที่สำคัญคือ 4 Ms ได้แก่ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ การจัดการ (Management)
                ทรัพยากรการศึกษา ก็คือ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ การจัดการ (Management) ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
                การบริหารทรัพยากรการศึกษาคือการพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่สถานศึกษา

ขอบข่ายของการบริหารทรัพยากรการศึกษา
    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2544: 16) ได้กล่าวถึง การระดม ทรัพยากรเพื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2547-2553 โดยเน้นการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาด้วยการพัฒนาการมีส่วน ร่วมในการบริหารโรงเรียนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
     รุ่ง แก้วแดง (2546: 51) กล่าวถึง การระดมสรรพกำลังทุกส่วนในสังคมเพื่อ การจัดการศึกษา ทุกส่วนของสังคมทั้งครอบครัว ชุมชน รัฐ เอกชน องค์กรชุมชน สื่อมวลชน จะต้องตระหนักสำนึกรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการศึกษาทุกขั้นตอนแทนการผลักภาระให้เป็น ความรับผิดชอบของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่รัฐต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่และจริงจัง เพราะการศึกษา เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสติปัญญาที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคล และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยส่วนรวม
     ในขณะที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542 : 1- 21) ได้ระบุว่าการระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาตินี้ หมวด 1 มาตรา 9(5) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา หมวด 7 มาตรา 57 ให้หน่วยงานทางการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัด การศึกษาโดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าว มาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา และยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการจัดการศึกษา มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและ การลงทุนด้านงบประมาณ การเงินและทรัพย์สินจากทั้งของรัฐ

              ความสำคัญของทรัพยากรการศึกษา
                1. ทำให้สถานศึกษาดำเนินการเรียนการสอนหรือพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และได้ผลตามความ
                  มุ่งหมายของการจัดการศึกษา
                2.  เป็นการช่วยส่งเสริมงานวิชาการให้มีคุณภาพ
                3.  เป็นการช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านอื่นๆในสถานศึกษา
                4.  เป็นตัวกลางหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้กิจกรรมของสถานศึกษาดำเนินไปได้
                5.  มีบทบาทต่อกิจกรรมหรือการดำเนินภารกิจของสถานศึกษาทั้งด้านของปริมาณและคุณภาพ

จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบัน  ยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ อยู่มากโดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของสถานศึกษาอันมีที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่นความขาดแคลนปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นวัสดุ  ครุภัณฑ์  สื่อการเรียนการสอน  และแหล่งเรียนรู้ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน  การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกันตามปัจจัยข้างต้นจึงทำให้คุณภาพของผู้เรียนไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  ที่ต้องการจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  สร้างเสริมความรู้และปลูกฝัง จิตสำนึกที่ดีงาม โดยมีแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาดังนี้

แนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา                          
     สำหรับแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาพอสรุปได้ดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542: 15- 16) ได้ให้แนวทางในการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาไว้ในหมวด 8 ตั้งแต่มาตราที่ 58 – 62 ไว้ดังนี้ มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา ดังนี้ ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษีเพื่อ การศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วน ร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สิน และทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วม รับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ให้รัฐและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี
ในปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก การที่นักเรียนยังต้องเรียนพิเศษ ครูยังต้องได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถอีกมาก ผู้บริหารสถานศึกษาไม่สามารถบริหารจัดการศึกษาในส่วนที่ตนต้องรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ ภาคประชาชนไม่มีความเข้มแข็ง ไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ทำให้ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการศึกษาในชุมชนของตนเอง
ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องมุ่งเน้นปฏิรูปใน 4 ด้าน คือ 1) ปฏิรูปด้านสถานศึกษา 2) ปฏิรูปครู 3) ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และ 4) ปฏิรูประบบการบริหารการจัดการศึกษา ซึ่งการที่จะปฏิรูปทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยการบริหารจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีอิสระในการบริหารจัดการตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ได้มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการศึกษาโดยสถานศึกษา กระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดการศึกษา ทำให้สถานศึกษามีอิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และบริหารทั่วไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในรูปคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนครู และผู้แทนชุมชน
  การบริหารการศึกษาเพื่อให้ได้คุณภาพนั้น ต้องอาศัยทรัพยากรทางการศึกษา  โดยผู้บริหารจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาและสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายได้ ทรัพยากรทางการศึกษาไม่ว่า จะเป็น คน เงิน วัสดุและการบริหารจัดการ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนทั้งสิ้น
โดยสรุปแล้ว ในการบริหารทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรการเงิน ทรัพยากรกายภาพหรือทรัพยากรข้อสนเทศก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องยึดถือเป็นหลักหรือเป็นแนวทางสำคัญ คือ ความเสมอภาคด้านคุณภาพของทรัพยากร ความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลขององค์การ โดยจะต้องถือหลักสำคัญว่า องค์การหรือหน่วยงานที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการลงทุน และการลงทุนนั้นจะต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และความคุ้มค่านั้นอาจจะมีผลในรูปแบบของผลตอบแทนที่วัดได้หรือที่วัดไม่ได้ก็ได้ เช่น ความมีเกียรติ ความมีชื่อเสียงและการยอมรับ
              ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสนใจ ในการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาและระบบบริหารทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะเป็นแนวทางสำคัญอันจะนำองค์กรทางการศึกษาไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง



บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542. กรุงเทพมหานคร :
               คุรุสภาลาดพร้าว, 2542.
ปรีชา  คัมภีรปกรณ์.การบริหารทรัพยากรการศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 3.นนทบุรี :
              มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.2547.
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช 2545 – 2549 ฉบับสรุป. พิมพ์ครั้งที่ 2.
               กรุงเทพมหานคร : พริกหวานกราฟิก, 2545.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
แนวการศึกษาชุดวิชาการบริหารทรัพยากรการศึกษาหน่วยที่ 1-15 = Educational resource administration / นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2541, 464 หน้า.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542. กรุงเทพมหานคร :
               อักษรเจริญทัศน์, 2542.
รุ่ง แก้วแดง. โรงเรียนนิติบุคคล. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, 2546.
ศุภร บุญราช. การปฏิบัติและความคาดหวังเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา
                 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ในโรงเรียนประถมศึกษา
                 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุดรราชธานี. วิทยานิพนธ์ กศ..
                (การบริหารการศึกษา) ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษา
                 ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2544.
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. รายงานปฏิรูปการศึกษาต่อประชาชน. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์
                 พริ้นติ้ง, 2544.
 สถาบันพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.)
ใน http://www.nidtep.go.th/index1.html
สมชาย หิรัญกิตติ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ฉบับมาตรฐาน
กรุงเทพฯ : ดวงกมลสมัย,2542.
สังวาลย์   วุฒิเสลา. การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
               การศึกษาอุบลราชธานี เขต 5. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ
               อุบลราชธานี,2548.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น