วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา

บทความวิชาการ
การระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา
                                                             

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะด้านวัตถุ มีการพัฒนาสร้างสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย  จำเป็นอย่างยิ่งที่การจัดการศึกษาในโรงเรียน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการสอนของครู  เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ  ซึ่งปัจจุบันทิศทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ..2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 โดยปรับประยุกต์ให้เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (..2545-2549) ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยพัฒนาสู่สากลบนพื้นฐานของความเป็นไทย เพื่อให้คนมีชีวิตที่ดีงาม เก่ง และมีความสุข ให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทร ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี    มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการให้มากที่สุดในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
ความหมายของทรัพยากรทางการศึกษา   
ทรัพยากร หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวกลาง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของคน วัสดุ เงิน หรืออื่นๆที่จะเป็นเครื่องช่วยในการดำเนินงานขององค์การสำเร็จได้
                ทรัพยากรในการบริหาร ที่สำคัญคือ 4 Ms ได้แก่ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ การจัดการ (Management)
                ทรัพยากรการศึกษา ก็คือ คน (Man) เงิน (Money) วัสดุสิ่งของ (Materials) และ การจัดการ (Management) ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา
                การบริหารทรัพยากรการศึกษาคือการพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่สถานศึกษา

ขอบข่ายของการบริหารทรัพยากรการศึกษา
    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2544: 16) ได้กล่าวถึง การระดม ทรัพยากรเพื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2547-2553 โดยเน้นการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาด้วยการพัฒนาการมีส่วน ร่วมในการบริหารโรงเรียนโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
     รุ่ง แก้วแดง (2546: 51) กล่าวถึง การระดมสรรพกำลังทุกส่วนในสังคมเพื่อ การจัดการศึกษา ทุกส่วนของสังคมทั้งครอบครัว ชุมชน รัฐ เอกชน องค์กรชุมชน สื่อมวลชน จะต้องตระหนักสำนึกรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการศึกษาทุกขั้นตอนแทนการผลักภาระให้เป็น ความรับผิดชอบของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่รัฐต้องมีเจตจำนงที่แน่วแน่และจริงจัง เพราะการศึกษา เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสติปัญญาที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคล และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยส่วนรวม
     ในขณะที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542 : 1- 21) ได้ระบุว่าการระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษา แห่งชาตินี้ หมวด 1 มาตรา 9(5) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา หมวด 7 มาตรา 57 ให้หน่วยงานทางการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัด การศึกษาโดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าว มาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา และยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา หมวด 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการจัดการศึกษา มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและ การลงทุนด้านงบประมาณ การเงินและทรัพย์สินจากทั้งของรัฐ

              ความสำคัญของทรัพยากรการศึกษา
                1. ทำให้สถานศึกษาดำเนินการเรียนการสอนหรือพัฒนาคนให้มีคุณภาพ และได้ผลตามความ
                  มุ่งหมายของการจัดการศึกษา
                2.  เป็นการช่วยส่งเสริมงานวิชาการให้มีคุณภาพ
                3.  เป็นการช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านอื่นๆในสถานศึกษา
                4.  เป็นตัวกลางหรือตัวกระตุ้นที่ทำให้กิจกรรมของสถานศึกษาดำเนินไปได้
                5.  มีบทบาทต่อกิจกรรมหรือการดำเนินภารกิจของสถานศึกษาทั้งด้านของปริมาณและคุณภาพ

จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบัน  ยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ อยู่มากโดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นผลผลิตหลักของสถานศึกษาอันมีที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่นความขาดแคลนปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นวัสดุ  ครุภัณฑ์  สื่อการเรียนการสอน  และแหล่งเรียนรู้ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน  การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกันตามปัจจัยข้างต้นจึงทำให้คุณภาพของผู้เรียนไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540  ที่ต้องการจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  สร้างเสริมความรู้และปลูกฝัง จิตสำนึกที่ดีงาม โดยมีแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาดังนี้

แนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา                          
     สำหรับแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาพอสรุปได้ดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2542: 15- 16) ได้ให้แนวทางในการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาไว้ในหมวด 8 ตั้งแต่มาตราที่ 58 – 62 ไว้ดังนี้ มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สิน ทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา ดังนี้ ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษีเพื่อ การศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วน ร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สิน และทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วม รับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ให้รัฐและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี
ในปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก การที่นักเรียนยังต้องเรียนพิเศษ ครูยังต้องได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถอีกมาก ผู้บริหารสถานศึกษาไม่สามารถบริหารจัดการศึกษาในส่วนที่ตนต้องรับผิดชอบได้อย่างเต็มที่ ภาคประชาชนไม่มีความเข้มแข็ง ไม่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน ทำให้ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการศึกษาในชุมชนของตนเอง
ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ต้องมุ่งเน้นปฏิรูปใน 4 ด้าน คือ 1) ปฏิรูปด้านสถานศึกษา 2) ปฏิรูปครู 3) ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน และ 4) ปฏิรูประบบการบริหารการจัดการศึกษา ซึ่งการที่จะปฏิรูปทั้ง 4 ด้าน ดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยการบริหารจัดการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีอิสระในการบริหารจัดการตามหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management : SBM) ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ได้มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการศึกษาโดยสถานศึกษา กระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดการศึกษา ทำให้สถานศึกษามีอิสระและมีความคล่องตัวในการบริหารงานด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารบุคคล และบริหารทั่วไป พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในรูปคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนครู และผู้แทนชุมชน
  การบริหารการศึกษาเพื่อให้ได้คุณภาพนั้น ต้องอาศัยทรัพยากรทางการศึกษา  โดยผู้บริหารจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษาและสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายได้ ทรัพยากรทางการศึกษาไม่ว่า จะเป็น คน เงิน วัสดุและการบริหารจัดการ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนทั้งสิ้น
โดยสรุปแล้ว ในการบริหารทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรการเงิน ทรัพยากรกายภาพหรือทรัพยากรข้อสนเทศก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องยึดถือเป็นหลักหรือเป็นแนวทางสำคัญ คือ ความเสมอภาคด้านคุณภาพของทรัพยากร ความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลขององค์การ โดยจะต้องถือหลักสำคัญว่า องค์การหรือหน่วยงานที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการลงทุน และการลงทุนนั้นจะต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และความคุ้มค่านั้นอาจจะมีผลในรูปแบบของผลตอบแทนที่วัดได้หรือที่วัดไม่ได้ก็ได้ เช่น ความมีเกียรติ ความมีชื่อเสียงและการยอมรับ
              ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ถ้าจะให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสนใจ ในการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาและระบบบริหารทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะเป็นแนวทางสำคัญอันจะนำองค์กรทางการศึกษาไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างแท้จริง



บรรณานุกรม
กระทรวงศึกษาธิการ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542. กรุงเทพมหานคร :
               คุรุสภาลาดพร้าว, 2542.
ปรีชา  คัมภีรปกรณ์.การบริหารทรัพยากรการศึกษา.พิมพ์ครั้งที่ 3.นนทบุรี :
              มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.2547.
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช 2545 – 2549 ฉบับสรุป. พิมพ์ครั้งที่ 2.
               กรุงเทพมหานคร : พริกหวานกราฟิก, 2545.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
แนวการศึกษาชุดวิชาการบริหารทรัพยากรการศึกษาหน่วยที่ 1-15 = Educational resource administration / นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2541, 464 หน้า.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542. กรุงเทพมหานคร :
               อักษรเจริญทัศน์, 2542.
รุ่ง แก้วแดง. โรงเรียนนิติบุคคล. กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช, 2546.
ศุภร บุญราช. การปฏิบัติและความคาดหวังเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษา
                 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ในโรงเรียนประถมศึกษา
                 สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดอุดรราชธานี. วิทยานิพนธ์ กศ..
                (การบริหารการศึกษา) ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2544.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษา
                 ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ : สำนักงาน, 2544.
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. รายงานปฏิรูปการศึกษาต่อประชาชน. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์
                 พริ้นติ้ง, 2544.
 สถาบันพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.)
ใน http://www.nidtep.go.th/index1.html
สมชาย หิรัญกิตติ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ฉบับมาตรฐาน
กรุงเทพฯ : ดวงกมลสมัย,2542.
สังวาลย์   วุฒิเสลา. การบริหารทรัพยากรทางการศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่
               การศึกษาอุบลราชธานี เขต 5. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ
               อุบลราชธานี,2548.

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความหมายและลักษณะขององค์ประกอบทักษะชีวิต

ความหมายและลักษณะขององค์ประกอบทักษะชีวิต
องค์ประกอบทักษะชีวิตทั้ง 12 ประการของกรมสุขภาพจิตมีรายละเอียดของความหมายและลักษณะในแต่ละองค์ประกอบทั้ง 12 องค์ประกอบดังต่อไปนี้
องค์ประกอบที่ 1 ความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking)
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวของคนทุกคน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไป มีผู้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ไว้หลากหลายดังนี้
กรมสุขภาพจิต (2543 : 1) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถในการคิดออกไปอย่างกว้างขวางโดยไม่ยึดติดอยู่ในกรอบ
องค์การอนามัยโลก (1997 : 2) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนสนับสนุนในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาในการค้นหาทางเลือกต่างและผลที่เกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก ถึงแม้ว่ายังไม่มีการตัดสินใจและแก้ปัญหาก็ตามความคิดสร้างสรรค์ยังช่วยให้บุคคลสามารถนำประสบการณ์ที่ผ่านมามาใช้ในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
ธนพัชร แก้วปฏิมา (2547 : 17) กล่าวว่า เป็นความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ข้อมูลจากประสบการณ์ ในประเด็นการหาทางเลือกหรือหาทางออกของการตัดสินใจและแก้ปัญหาเกี่ยวกับสื่อเทคโนโลยีและสารเสพติดด้วยมุมมองที่หลากหลาย ตลอดจนสามารถคาดการณ์ผลกระทบอันเกิดจากทางเลือกนั้นเพื่อหาทางแก้ไขเป็นความสามารถในการคิดอย่างยืดหยุ่นหากต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา
วันดี โต๊ะดำ (2547 : 15) กล่าวว่า เป็นความสามารถของบุคคลในการคิดอย่างหลากหลาย แปลกใหม่ และที่เป็นตัวตนของตัวเองและส่วนรวม
ศรีสุรางค์ ทีนะกุล (2542 : 12) กล่าวว่า เป็นความสามารถที่มีอยู่ในตัวบุคคลเป็นลักษณะความคิดแปลกใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบ มีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเองซึ่งอาจเกิดจากความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากความคิดเดิมให้เป็นความคิดที่แปลกใหม่ และแตกต่างจากความคิดเดิมเป็นงานที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถในการคิดกว้าง คิดไกล คิดหลากหลาย คิดออกนอกกรอบ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์สิ่งต่างๆทำให้เกิดความคิดใหม่ๆสำหรับตอบสนอง ปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสิ่งเร้าในชีวิตประจำวันได้
องค์ประกอบที่ 2 ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ (critical thinking)
กรมสุขภาพจิต (2543 : 1) กล่าวว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์เป็นความสามารถที่จะวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลข่าวสาร ปัญหา และสถานการณ์ต่างๆรอบตัว
องค์การอนามัยโลก (1997 : 2) กล่าวว่า เป็นความสามารถที่วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและประเมินปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อเจตคติและพฤติกรรม เช่น ค่านิยม แรงกดดันจากกลุ่มเพื่อน
ทิศนา แขมมณี และคณะ (ศึกษาธิการ. ... : 40) กล่าวว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ คือ การคิดอย่างรอบคอบสมเหตุสมผล ผ่านการพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่างกว้างไกลลึกซึ้ง และผ่านการพิจารณากลั่นกรอง ไตร่ตรองทั้งด้านคุณ-โทษ และคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆมาแล้ว ผู้ที่รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณจะสามารถแก้ปัญหาหรือเลือกทางเลือกได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด
นอริส (ชลชัย ทัศกุลณี. 2542 : 39 ; อ้างอิงมาจาก Kintgen & Andrews. 1991) กล่าวว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และมีการสะท้อนการคิดที่มุ่งสู่การตัดสินใจที่จะทำหรือจะเชื่อ
ยินเกอร์ (Yinger. 1998 : 14) กล่าวว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นกิจกรรมรู้คิดที่เกี่ยวพันกับการประเมินผลลัพธ์ทางการคิด ที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และการสร้างสรรค์ผลลัพธ์ต่างๆอีกทั้งการปรับเปลี่ยนสภาพการณ์เพื่อการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ
แกงค์ (Gange. 1981 : 87) กล่าวว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์เป็นกระบวนการทักษะภายในที่จะเลือก และนำไปสู่การให้คำนิยามและการแก้ปัญหาใหม่
ทิศนา แขมมณี (2540 : 5) ได้เสนอกระบวนคิดวิเคราะห์วิจารณ์ว่ามีขั้นตอนวิธีการดังนี้
1. ตั้งเป้าหมายในการคิด
2. ระบุประเด็นในการคิด
3. ประมวลข้อมูลทั้งทางด้านข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่คิดทั้งกว้าง ลึก และไกล
4. วิเคราะห์ จำแนกแยกแยะข้อมูล จัดหมวดหมู่ของข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะนำมาใช้
5. ประเมินข้อมูลที่จะใช้แง่ความถูกต้อง ความเพียงพอและน่าเชื่อถือ
6. ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูลเพื่อแสวงหาทางเลือก/คำตอบที่สมเหตุสมผลตามข้อมูลที่มี
7. เลือกทางเลือกที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงผลที่จะตามมา และคุณค่าหรือความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้น
8. ชั่งน้ำหนัก ผลได้ ผลเสีย คุณ-โทษ ในระยะสั้นและระยะยาว
9. ไตร่ตรอง ทบทวนกลับไปมาให้รอบคอบ
10. ประเมินทางเลือกและลงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความคิดวิเคราะห์วิจารณ์ หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลข่าวสาร คิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ มีความสมเหตุสมผลโดยพิจารณาทั้งคุณและโทษ ทำให้ได้มาซึ่งคุณค่า
องค์ประกอบที่ 3 ความตระหนักในตนเอง (self awareness)
มีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับความตระหนักรู้ในตนไว้ดังนี้
สุภาพร ดาวดี (2537 : 40) กล่าวว่า ความตระหนักรู้ในตนเป็นการรู้ตัวหรือการรู้สัมผัสเกี่ยวกับตนเองของบุคคลในสถานการณ์ที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า คือ รู้ว่าตนเองกำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และกำลังทำอะไรในขณะนั้น โดยอาศัยการมุ่งสนใจเข้าสู่ตนเอง
แฟลแมน (Feldman. 1992 : 3) กล่าวว่า ความตระหนักรู้ในตนเป็นการรู้สัมผัสเกี่ยวกับตนเอง บุคคลอื่น และสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น คือรู้ว่าตนเองกำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และทำอะไรกับตนเองกับผู้อื่น หรือกับสิ่งอื่นๆในขณะนั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
โรส (Ross. 1992 : 53) กล่าวว่าความตระหนักรู้ในตนเป็นการตระหนักในตนเองที่เกิดจากความมุ่งสนใจเข้าสู่ตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นชั่วคราวตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่มากระตุ้น
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความตระหนักรู้ในตนเอง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเองและยอมรับในตนเอง ทั้งด้านบุคลิกลักษณะ จุดดี จุดด้อย ความต้องการ ไม่ต้องการ ความชอบ ความไม่ชอบ และสามารถประเมินตนเองได้ตามความเป็นจริง
องค์ประกอบที่ 4 ความเห็นใจผู้อื่น (emphaty)
กรมสุขภาพจิต (2543 : 19) กล่าวว่า ความเห็นใจผู้อื่น หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกและเห็นอกเห็นใจบุคคลที่แตกต่างกับเรา อันได้แก่ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา สีผิว ท้องถิ่น สุขภาพ เป็นต้น
กรมวิชาการ (2543 : 6) กล่าวว่าการเห็นใจผู้อื่น หมายถึง การอยู่ร่วมกันในสังคมจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การรู้จักผู้อื่น การมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน และเห็นความดีงามของผู้อื่นตลอดจนสิ่งแวดล้อมเป็นทักษะชีวิตที่จะช่วยให้เรามีความสุขมีขอบข่ายที่สำคัญดังนี้
1. เข้าใจความแตกต่างของบุคคลและรู้ว่าทุกคนมีค่า
2. เข้าใจถึงอารมณ์ที่ซับซ้อนและการแสดงออกของผู้อื่น
3. เห็นใจและยอมรับบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ
4. รู้จักชื่นชมและซาบซึ้งต่อสิ่งที่ดีงามรอบตัว
5. สำนึกในบุญคุณของผู้มีคุณและสิ่งแวดล้อม
6. รู้หน้าที่ สิทธิและปฏิบัติตนตามกติกาของสังคมด้วยความรับผิดชอบในเรื่องสุขภาพและสาธารณสุข
องค์การอนามัยโลก (1997 : 2) กล่าวว่า เป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกและความเห็นใจบุคคลที่แตกต่างจากเราถึงแม้ว่าเราจะไม่คุ้นเคย ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างขิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีทางสังคม เช่นความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม โดยเฉพาะบุคคลที่มีความบกพร่องทางจิตใจ หรือบุคคลที่ไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคม
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความเห็นใจผู้อื่น หมายถึง การรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก หรือความต้องการของผู้อื่น จากการสังเกตพฤติกรรม และยอมรับประเด็นอันเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือ แบ่งปันสิ่งของต่อผู้อื่นอย่างเต็มใจ ยอมรับความสามารถของผู้อื่นอย่างจริงใจ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้อื่นมีความรู้ ความสามารถด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม
องค์ประกอบที่ 5 ความภูมิใจในตนเอง (self esteem)
ความภูมิใจในตนเองเป็นการตัดสินคุณค่าของตน และการแสดงออกในรูปทัศนคติที่บุคคลนั้นมีต่อตนเอง ความรู้สึกภูมิใจในตนเอง เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอัตมโนทัศน์ บางครั้งจะใช้คำว่าความนับถือตนเอง การเห็นพ้องตนเอง ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง (Taylor. 1982 : 120) หรืออาจใช้การปกป้องตนเอง การยอมรับตนเอง (Muhlenkanp and Seyles. 1986 : 334) และได้มีผู้ให้ความหมายของความภูมิใจในตนเอง ไว้ดังนี้
กรมสุขภาพจิต (2543 : 23) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เช่น ความมีน้ำใจ รู้จักให้ รู้จักรับ ค้นพบและภูมิใจในความสามารถด้านต่างๆของตนอันได้แก่ ความสามารถในด้านสังคม ดนตรี กีฬา ศิลปะเป็นต้น ซึ่งมิได้มุ่งสนใจแต่ในเรื่องรูปร่าง หน้าตา เสน่ห์ หรือความสามารถทางเพศ การเรียนเก่งเท่านั้น
อัปสรศิริ เอี่ยมประชา (2543 : 12) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นการประเมินความเชื่อหรือความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเอง มีความเคารพและยอมรับในตนเองว่ามีความสำคัญ มีความสามารถและใช้ความสามารถที่มีอยู่กระทำสิ่งต่างๆให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้โดยได้รับการยอมรับจากบุคคลในสังคม
สมศักดิ์ เจริญศรี (2543 : 40) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเอง เป็นผลรวมแนวทางที่บุคคลรับรู้และพิจารณาตัดสินด้วยตัวเองจากการยอมรับของสังคม ความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่นทั้งในครอบครัว เพื่อน ในการกระทำของตนเอง
พิสมัย สุขอมรรัตน์ (2540 : 43) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองว่าตนเองมีความสำคัญ มีความสามารถในการกระทำสิ่งต่างๆให้ประสบความสำเร็จ ตลอดจนมีความเชื่อมั่นว่าตนเองได้รับการยกย่องนับถือจากเพื่อนฝูง ครอบครัวและสังคม
วัฒนา มัคสมัน (2539 : 16) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเอง เป็นการที่บุคคลรับรู้ถึงลักษณะของตนเอง ประเมินลักษณะของตนเอง จากผลการประเมินแล้วยอมรับเชื่อมั่นและชื่นชมในคุณค่าของตนเองในด้านความสามารถ ความสำคัญ ความสำเร็จ ความมีคุณค่าและขณะเดียวกันก็ยอมรับข้อจำกัดของตน แล้วแสดงออกในรูปของความรู้สึก ทัศนคติที่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมซึ่งผู้อื่นสามารถสังเกตและรับรู้ได้
อีเมอร์รี และคณะ (Emery and other. 1993 : 224-225) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นการประเมินคุณค่าของตนเองของบุคคลในประสบการณ์ 3 ส่วน คือ ความรู้สึกถึงคุณค่าของตนต่อกลุ่มเพื่อน ต่อครอบครัว และต่อโรงเรียน
คูเปอร์สมิท (Corpersmith. 1984 : 5) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นการประเมินคุณค่าของตนเอง แสดงถึงทัศนคติทั้งด้านบวกและด้านลบ เป็นการตัดสินคุณค่าแห่งตนทำให้บุคคลนั้นรู้สึกว่าตนมีความสามารถ ความสำคัญ ประสบความสำเร็จและมีคุณค่า ซึ่งสังเกตได้จากคำพูดและพฤติกรรมที่แสดงออก
บราเดอร์ (Brander. 1981 : 110) กล่าวว่า ความภูมิใจในตนเองเป็นลักษณะของความเชื่อมั่นในความมีคุณค่าของตนเอง ความมั่นใจในความสามารถของตนที่กระทำสิ่งใดให้สำเร็จได้ตามความพอใจ
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความภูมิใจในตนเอง หมายถึง การรับรู้เกี่ยวกับคุณค่าของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ โดยประเมินจากประสบการณ์ในอดีต และการยอมรับจากกลุ่ม มีความเชื่อมั่นที่จะแสดงความสามารถที่เป็นประโยชน์โดยไม่ไหวหวั่นต่อการตัดสินและประเมินคุณค่าตนเองจากรูปร่างหน้าตาโดยผู้อื่น ตลอดจนมีกำลังที่จะค้ำจุนจิตใจให้ต่อสู้และพัฒนาความสามารถของตนเองให้ดียิ่งขึ้น
องค์ประกอบที่ 6 ความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility)
กรมสุขภาพจิต (2543 : 19) กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีส่วนรับผิดชอบในความเจริญหรือเสื่อมของสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคมมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความภูมิใจในตนเอง เพราะหากคนเรามีความภูมิใจในตนเอง คนเหล่านั้นก็มีแรงจูงใจที่จะทำดีกับผู้อื่นและสังคม
กรมสามัญศึกษา (...) กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชนและสังคม บำเพ็ญประโยชน์และสร้างสรรค์ความเจริญให้ชุมชนอย่างเต็มความสามารถ ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของบุคคลที่จะเป็นภัยต่อสังคม ให้ความรู้ สนุกสนาน เพลิดเพลิน แก่ประชาชนตามความสามารถของตน ช่วยคิดและแก้ปัญหาต่างๆของสังคม
กรมวิชาการ (2543 : 6) กล่าวว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง ความรู้สึกของบุคคล ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ โดยรู้วิธีและปฏิบัติตัวเพื่อรักษาไว้ซึ่งสาธารณสมบัติ ช่วยเหลือสอดส่องบุคคลที่เป็นภัยต่อ เห็นคุณค่าของการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
ให้ดำรงอยู่และเคารพในกฎระเบียบข้อบังคับของสังคมตลอดมีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นที่จะแสดงพฤติกรรมอันพึงปรารถนาของสังคม
พรชัย รอดสมจิต (จันทร์จิรา มูลเมือง. 2534 : 3 ; อ้างอิงมาจาก พรชัย รอดสมจิต. 2527 : 11) กล่าวถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ว่าเป็นสิ่งที่บุคคลได้รับรู้ หรือปฏิบัติในสิ่งต่อไปนี้ 1) ความสำนึกในการความผิดชอบต่อหน้าที่พลเมือง เช่น ปฏิบัติตามระเบียบของสังคม 2) ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น ไม่นำความเดือดร้อนมาให้ครอบครัว 3) ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ครู-อาจารย์ เช่น ปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎข้อบังคับของโรงเรียน 4) ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อเพื่อน เช่น ช่วยตักเตือนและแนะนำเมื่อเห็นเพื่อนทำผิด ช่วยเหลือเพื่อนตามความถูกต้องและเหมาะสมให้อภัยเพื่อนที่ทำผิดเป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง ความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีส่วนรับผิดชอบในความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความภูมิใจในตน เพราะหากคนเรามีความภูมิใจในตน คนเหล่านี้ก็มีแรงจูงใจที่จะทำดีกับผู้อื่นและสังคม
องค์ประกอบที่ 7 ทักษะการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร (interpersonal relationship and communication skills)
การสร้างสัมพันธภาพระหว่าบุคคลเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างเพื่อน สัมพันธภาพที่ดีมีแนวโน้มให้บุคคลเกิดการตอบสนองต่อกันในทางบวก ทำให้บุคคลมีความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เข้าใจกัน ยอมรับกัน มีความจริงใจต่อกันสามารถยอมรับสิ่งต่างๆได้ตามจริงและสามารถทำให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Koontz and O’Donnel. 1968 : 4) ซึ่งการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับการสื่อสาร หรืออาจกล่าวได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างบุคคลปราศจากการสื่อสารไม่ได้ (Beach. 1970 : 11)
แนวคิดการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้
นุชนาฏ ศิริพล (2540 : 23) กล่าวว่า การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดความสอดคล้องระหว่างประสบการณ์ การตระหนักรู้และการสื่อสาร
มิลทอล (Milton. 1981 : 196) กล่าวว่า การสร้างสัมพัธภาพระหว่างบุคคลเป็นขอบเขตทั้งหมดของการกระทำของคนที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล ซึ่งปฏิสัมพันธ์กันเสมือนถูกรวมไว้ในความสัมพันธ์ของการติดต่อสื่อสารกัน การร่วมมือกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาและการจูงใจ
รูบเอน (Ruben. 1984 : 249) กล่าวว่า การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นการสร้างความสนิทสนมและความลงรอยกันในระหว่างบุคคล ซึ่งอาจเป็นเพื่อน คู่รัก ครูกับนักเรียน สามีภรรยา หรือนายจ้างกับลูกจ้างเป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า การสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร หมายถึง ความสามารถในการเป็นผู้ถ่ายทอดและผู้รับ ทั้งคำพูด กิริยา ท่าทางต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้รู้ถึงความปรารถนา รู้จักปฏิเสธ ต่อรอง ขอร้อง และขอความช่วยเหลือ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น มีความเป็นมิตรเอาใจใส่ ร่วมมือให้เกียรติ สามารถถ่ายทอดความรู้สึก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และยอมรับซึ่งกันและกัน
องค์ประกอบที่ 8 ทักษะการตัดสินใจและการแก้ปัญหา (decision making and problem solving skills)
การตัดสินใจมีผู้กล่าวความหมายของการตัดสินใจไว้ดังนี้
โรบิน (Robin. 1991 : 275) กล่าวว่า การตัดสินใจ จะรวมถึงการรับรู้ปัญหา การคิด ปัญหา ค้นหาคำตอบที่เป็นไปได้ ซึ่งจะต้องอาศัยวิธีการ เครื่องมือ การลองผิดลองถูกหรือความหยั่งรู้ได้ และขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายที่ต้องการ เพื่อประเมินความเป็นไปได้หลายๆทางและนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
ฮาร์ริสสัน (Harrision. 1981 : 3) กล่าวว่า การตัดสินใจเป็นกระบวนการประเมินผลเกี่ยวกับทางเลือก หรือตัวเลือกที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการคาดคะเนผลที่เกิดจากทางเลือกในการปฏิบัติที่จะส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในที่สุด
แพทเทอร์สัน (Patterson. 1980 : 107) กล่าวว่า การตัดสินใจเป็นการที่บุคคลเข้าไปเสี่ยง โดยการรวบรวมและประเมินข้อมูลจากทางเลือกหลายทาง และมีสิ่งประกอบอื่นๆที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือก
บรูซีส และริชาร์ดสัน (พิสมัย สุขอมรรัตน์. 2540 : 18 ; อ้างอิงมาจาก Brucess และ Richardson. 1989) กล่าวว่า การตัดสินใจ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะการป้องกัน (protective skills) และการที่บุคคลจะสุขภาพดีขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ คือ มีการประเมินทางเลือกต่างๆมีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือก และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เป็นผลดีแก่สุขภาพมากที่สุด
ดุษฎี เจริญสุข (2540 : 4) กล่าวว่า การตัดสินใจเป็นความสามารถที่เป็นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลในการพิจารณาเลือกแนวทางในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ในสถานการณ์หนึ่งที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า การตัดสินในและการแก้ปัญหา หมายถึง ความสามารถในการรับรู้ปัญหา สาเหตุ หาทางเลือก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของทางเลือก ประเมินทางเลือก ตัดสินใจเลือก และลงมือแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม
องค์ประกอบที่ 9 ทักษะการจัดการกับอารมณ์และความเครียด (coping with emotion and stress skill)
ดราเปอร์ (Draper. 1990 : 415) กล่าวว่า อารมณ์เป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนประกอยด้วยลักษณะอย่างน้อย 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) เป็นผลของประสบการณ์อันเกิดจากการเรียนรู้ของบุคคล 2) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสมองและระบบประสาท และ 3) มีรูปแบบและสามารถสังเกตเห็นได้ โดยเฉพาะการปรากฏทางใบหน้าของผู้แสดงอารมณ์
พิสมัย สุขอมรรัตน์ (2542 : 26) ได้กล่าวว่า ความเครียดเป็นการตอบสนองของบุคคลต่อการสูญเสียความสมดุลภายในระบบของบุคคล ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกาย
กรมสุขภาพจิต (2539 : 1) กล่าวว่า ความเครียดเป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดจากความตื่นตัวเตรียมรับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่พึงพอใจและเป็นเรื่องที่เราคิดว่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจและอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายขึ้นด้วย
กาญจนา เดชคุ้ม (2541) กล่าวว่า ความเครียดเป็นภาวะทางจิตใจของบุคคลเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา หรือเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ซึ่งอาจมีสาเหตุจากภายในตัวบุคคลหรือภายนอกตัวบุคคลก็ได้ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม
ราสาร์ส และ ฟอร์คแมน (Lazarus and Folkman. 1984 : 21) กล่าวว่า ความเครียดขึ้นอยู่กับบุคคลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน การตัดสินใจภาวะความเครียดของบุคคลจะต้องผ่านกระบวนการประเมิน โดยใช้สติปัญญา (cognitive appraisal) ว่าอิทธิพลนั้นเกินขีดความสามารถของตนในการที่จะต่อต้านได้
จากข้อมูลดังกล่าวอาจสรุปได้ว่า การจัดการกับอารมณ์และความเครียด หมายถึง ความสามารถในการประเมินอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตน รู้จักใช้วิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เหมาะสม และเป็นความสามารถที่จะรู้สาเหตุของความเครียด เรียนรู้วิธีการควบคุมระดับของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายและหลีกเลี่ยงสาเหตุ พร้อมทั้งเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปในทางที่พึงประสงค์

คุณลักษณะที่จำเป็น 4 ประการ

คุณลักษณะที่จำเป็น 4 ประการ คือ
1. ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านปัญหาและความคิด ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านปัญหาและความคิดเป็นลักษณะและความสามารถทางสมองของบุคคลในการเรียนรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆจากระดับความคิดพื้นฐานไปสู่ความคิดชั้นสูงอย่างเป็นระบบ เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการคิดที่ประมวลผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง ไตร่ตรอง ทบทวนในแง่ความถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลมีหลักการ และตรงประเด็น คณะกรรมการโครงการพิเศษสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2541) ได้ให้ความสำคัญกับความคิดอย่างมีวิจารณญาณนี้มาก และเชื่อว่าบุคคลที่มีความคิดมีวิจารณญาณจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ต่างๆในการตัดสินใจ การแก้ปัญหา และการศึกษาวิจัยต่างๆได้
นอกจากความสำคัญของการคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้ว คณะผู้เขียนยังเน้นในเรื่องคุณลักษณะการคิดแก้ปัญหา ซึ่งสรุปได้ว่า ในโลกปัจจุบันสังคมโลกนี้มีความซับซ้อนวุ่นวายจนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นทักษะชีวิตในด้านการคิดแก้ปัญหา จึงเป็นลักษณะสำคัญที่ควรฝึกให้เด็กได้มีทักษะเพื่อการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมีหลักการสำคัญในการฝึกความคิดว่า ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม และใช้ความพยายามที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนลุล่วงไปด้วยดี
การคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะด้านปัญหาทางความคิดอีกประการหนึ่งที่ได้เน้นให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อการฝึกทักษะชีวิตเพราะการพัฒนาการคิดสร้างสรรค์จะทำให้มีเครื่องมือในการนำความรู้ข้อมูลและสิ่งต่างๆที่ได้จากการเรียนรู้ มาสร้างรูปแบบของความคิดหรือประดิษฐ์คิดค้น ปรับเปลี่ยน สิ่งที่แปลกแยกแตกต่างออกไปจากสิ่งเดิมๆทำให้เกิดความคล่องแคล่วความหลากหลาย และความริเริ่มในด้านความคิด เกิดความเป็นอิสระและยืดหยุ่นในการคิดได้มากขึ้น
2. ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านจิตใจ ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านจิตใจเป็นคุณลักษณะความสามารถและความชำนาญของบุคคลที่มีทักษะชีวิตในด้านจิตใจ และอารมณ์อยู่ในสภาพสงบและมีคุณภาพคุณลักษณะทางจิตใจที่เน้นให้เห็นความสำคัญก็คือ การมีสุนทรียภาพ ความสงบสุขในจิตใจ ความมีสติ สมาธิ ความเพียร ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และความเชื่อมั่นในตนเอง โดยมีจุดประสงค์ให้เด็กได้พัฒนาทั้งตนเองและปกป้องดูแลบุคคลอื่นในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ความอบอุ่น และมีสันติได้
3. ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านการกระทำเป็นลักษณะและความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมหรืองานต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว มีแบบแผนที่ชัดเจน โดยมีพื้นฐานของสุขภาพทางกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทักษะในด้านการกระทำนี้จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งผลให้เกิดความชำนาญในกิจกรรมและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จุดสำคัญที่คณะผู้เขียนเน้นในทักษะด้านนี้คือ มีเป้าหมาย และทิศทางการทำงานที่ชัดเจนทำงานด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ มีแบบแผนที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ชัดเจน ทำงานด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ มีแบบแผนที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี โดยมีลักษณะของการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆอย่างสัมพันธ์สอดคล้องกลมกลืนมีจังหวะที่ราบรื่น
4. ทักษะชีวิตและคุณลักษณะด้านสังคม เป็นลักษณะและความสามารถที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิตร่วมกับบุคคลโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมงาน ความสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นๆได้ตามเป้าหมาย มีความสุขในการทำงาน ทักษะชีวิตทางด้านสังคมต้องการความสามารถในด้านต่างๆต่อไปนี้
4.1 การติดต่อสื่อสารและมนุษย์สัมพันธ์
4.2 การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม
4.3 การรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น

องค์ประกอบของทักษะชีวิตด้านพุทธพิสัย

องค์ประกอบของทักษะชีวิตด้านทักษะพิสัย หรือด้านการกระทำ ประกอบด้วย
1. ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ และการสื่อสาร (interpersonal relationship and communication) เป็นความสามารถในการใช้คำพูด และภาษาท่าทางเพื่อสื่อสาร – ความรู้สึกนึกคิดของตนเองไปยังผู้อื่น รวมถึงความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นที่สื่อสารมายังตนเอง
2. ทักษะการตัดสินใจ และแก้ไขปัญหา (decision making and problem solving skill) เป็นความสามารถในการรับรู้ปัญหาโดยรู้สาเหตุของปัญหา นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่จะหาทางเลือกที่เหมาะสม ทำให้ตัดสินใจหาทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาอาจถึงขั้นแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
3. ทักษะการจัดการกับอารมณ์ และความเครียด (coping with emotion and stress skill) เป็นความสามารถในการประเมินอาจารย์ที่เกิดขึ้น รู้เท่าทันกับอารมณ์มีอิทธิพลทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักใช้วิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมจัดการกับอารมณ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหายืดเยื้อต่อเนื่องได้ รู้สาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้น รู้วิธีการควบคุมระดับความเครียด รู้จักหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เกิดความเครียดซึ่งอาจจะนำมาซึ่งพฤติกรรมหรือสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้
ทักษะชีวิต หมายถึง  ความสามารถของบุคคลอันประกอบด้วย การมีความรู้  มีเจตคติที่ดี และมีทักษะที่สามารถจะจัดการกับปัญหาด้านใด ด้านหนึ่งของตนเองได้  เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างมีความสุขในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันและและสามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต
      
องค์ประกอบของทักษะชีวิต  องค์ประกอบของทักษะชีวิตมี 10 องค์ประกอบ 3 ด้านคือ  ทักษะด้านความคิด
       - ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
       - ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)
ทักษะด้านจิตใจ
       - ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self awareness)
       - ทักษะการเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
ทักษะด้านการกระทำ
       - ทักษะการตัดสินใจ (Decision making)
       - ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
       - ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective communication)
       - ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal relationship)
       - ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with emotion)
       - ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with stress

                      ทักษะชีวิต  มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล  เนื่องจากทักษะชีวิต เป็นความสามารถพื้นฐานที่ที่จำเป็นในการใช้เผชิญกับปัญหาที่พบและผ่านเข้ามาในชีวิตชีวิตประจำวันเช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน  สุขภาพ  การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม  การปรับตัว  ความเครียด ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ  และยังเป็นความสามารถที่มีความจำเป็นสำหรับการเผชิญปัญหาเฉพาะ เช่น ยาเสพติด โรคเอดส์ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ